สมุนไพรไทยพื้นบ้านที่บรรเทาอาการไข้หวัด มี 8 ชนิด ที่นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการไข้หวัด ลดอาการไอ ลดการระคายเคืองคอ จากเสมหะ ได้แก่ ขิง ดีปลี เมล็ดเพกา มะขามป้อม มะขาม มะนาว มะแว้งเครือ และมะแว้งต้นซึ่งสมุนไพรเหล่านี้มีอยู่ตามพื้นบ้านทุกภาคอยู่แล้ว มีสรรพคุณต่างกัน สามารถเลือกใช้ได้ตามอาการ.
สมุนไพร : ไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก มี 2 กลุ่มใหญ่
1. สมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Herbs with anti-influenza activity) ประกอบด้วยสมุนไพร
1.1 พลูคาว / ผักคาวตอง (Houttuynia cordata)
จากการศึกษาในหลอดทดลอง น้ำมันระเหยการกลั่นพลูคาวสดมีฤทธิ์ต้านไวรัส ไข้หวัดใหญ่ เริม (Herpes simplex virus type 1) เอชไอวี (HIV-1) โดยสารสำคัญในน้ำมันระเหยจากพลูคาวที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสดังกล่าว ได้แก่ methyl n-nonyl ketone, laurly aldehyde, capryl aldehyde
1.2 ทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus)
ส่วนเหนือดินของทองพันชั่งมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ Rhinacanthin E และ Rhinacanthin F
1.3 Epigallocatechin (EGCG)
EGCG เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีมากที่สุดในชาเขียว EGCG ขนาดต่ำในหลอดทดลองมีฤทธิ์ ยับยั้งไม่ให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิด A และ B เข้าเซลล์& ลดการติดเชื้อของเซลล์เพาะเลี้ยงจากไตสุนัขได้อย่างมีนัยสำคัญ
1.4 บีทรู้ท (Beta vulgaris)
บีทรู้ท = Beet root, sugarbeet ใช้ทำน้ำตาล เมื่อหยอดสารสกัดด้วยน้ำของบีทรู้ทเข้าจมูกหนูถีบ จักรหลายครั้ง ก่อนหยอดไวรัส H1N1 พบว่าช่วย ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้บางส่วนลดปริมาณเชื้อในปอดหนู ลดอัตราการตายของหนู ยืดเวลามีชีวิตของหนู เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับไวรัสหยอดจมูกอย่างเดียว
1.5 ใบเตย (Pandanus amaryllifolius)
ใบเตยมีสารจำพวกเลกติน (lectin) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโปรตีน ชื่อ Pandanin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ ไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1) อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเชื้อได้ 50% (EC50) เท่ากับ15.63 microM
1.6 สาร Aloe emodin
Aloe emodin = สารแอนทราควิโนน (anthraquinone) ที่พบได้ในยางว่านหางจระเข้ เมื่อนำสาร Aloe emodin มาผสมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลองนาน 15 นาที ที่ 37 องศาเซลเซียส สามารถยับยั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากนี้ สาร aloe emodin ยังยับยั้งไวรัสที่ก่อโรคเริม และงูสวัดได้อีกด้วย
1.7 ยี่โถ (Nerium indicum)
สารสกัดด้วยเมทานอล และสารสกัดด้วยเมทานอลกับน้ำของยี่โถมีฤทธิ์ต้านเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ดี โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งเชื้อได้ 50% (IC50) เท่ากับ 10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
2. สมุนไพรกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunomodulator / Immunostimulant
2.1 กระเทียม
2.1.1 Aged Garlic Extract (AGE) มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน AGEเป็นผลิตภัณฑ์กระเทียมเตรียมโดยการแช่กระเทียมที่หั่นหรือสับใน 15-20% แอลกอฮอล์แล้วทิ้งไว้นานมากกว่า 10 เดือน ที่อุณหภูมิห้องแล้วนำมาทำให้เข้มข้น เมื่อให้ AGE ทางปากแก่หนูถีบจักร 10 วันก่อนให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แก่หนูโดยการหยอดทางจมูก มีประสิทธิผลในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ดีเท่าการให้วัคซีน
2.1.2 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกระเทียมที่มีสาร allicin มีการศึกษาวิจัยในอาสาสมัคร 146 คน โดยให้กลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก และกลุ่มทดลองได้รับกระเทียมรับประทานวันละ 1 แคปซูล นาน 12 สัปดาห์ ระหว่างฤดูหนาว (พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) และให้คะแนนสุขภาพ และอาการหวัดทุกวัน พบว่า กลุ่มที่ได้รับกระเทียมมีโอกาสเป็นหวัดน้อยกว่ากลุ่มยาหลอก และเมื่อเป็นหวัดแล้วหายเร็วกว่า
2.2 โสม (Ginseng)
2.2.1 สารสกัดโสมอเมริกันที่จดสิทธิบัตรแล้ว (CVT-E002) โดยทดลองให้สารสกัดนี้ ขนาด 200 มก. วันละ 2 ครั้งหรือยาหลอกแก่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่รวมกันหลายคน (institutional setting) จำนวนรวม 198 คน ระหว่างฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ (ฤดูหนาวปี 2543 -44) เพื่อศึกษาประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน (Acute Respiratory Illness, ARI) พบว่า อุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการของกลุ่มยาหลอกสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดโสมอย่างมีนัยสำคัญ (7/101 และ 1/97) และการลดลงของความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรค ARI ในกลุ่มที่ได้รับยา CVT-E002 เท่ากับ 89%
2.2.2 สารสกัดโสมอเมริกันที่มี poly-furanosyl-pyranosylsaccharides ทดลองให้สารสกัดนี้หรือยาหลอก วันละ 2 แคปซูลนาน 4 เดือน แก่ผู้ที่เคยป่วยเป็นหวัดอย่างน้อย 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ต้นฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ โดยใช้ตัวอย่างเป็นกลุ่มได้รับโสม 73 คน กลุ่มยาหลอก 96 คน พบว่า
• จำนวนครั้งที่เป็นหวัดโดยเฉลี่ยต่อคน กลุ่มโสม ต่อ กลุ่มยาหลอก คือ 0.68 ต่อ 0.93*
• อัตราส่วนของคนที่เป็นหวัด 2 ครั้งหรือมากกว่า กลุ่มโสม ต่อ กลุ่มยาหลอก คือ10% และ 28%*
• คะแนนความรุนแรงของอาการหวัด กลุ่มโสม ต่อ กลุ่มยาหลอก คือ77.5 ต่อ 112.3*
• จำนวนวันที่มีอาการหวัดสำหรับการเป็นหวัดทุกครั้ง กลุ่มโสม ต่อ กลุ่มยาหลอก คือ 10.8 ต่อ 16.5 วัน*
2.2.3 Standardized ginseng extract (Ginsana G115) ทดลองให้สารสกัดนี้ในขนาด 100 มก.หรือยาหลอกแก่อาสาสมัคร นาน 12 สัปดาห์ และให้ anti-influenza polyvalent vaccine ในสัปดาห์ที่ 4 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ พบว่า กลุ่มที่ได้ยาหลอก ป่วยด้วยโรคไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ เป็น 42/113 คน กลุ่มที่ได้รับโสม ป่วยด้วยโรคไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ เป็น 15/114 คน ซึ่ง ทั้งสองกลุ่มพบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และ Natural killer (NK) activity ในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 ในกลุ่มที่ได้รับโสม สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกเกือบ 2 เท่า
2.3 Echinacea มี 3 ชนิด คือ Echinacea purpurea , Echinacea pallida , Echinacea angustifolia ส่วนที่ใช้ คือ ส่วนเหนือดิน (น้ำคั้น) และราก ประกอบด้วยสารสำคัญ ดังนี้
2.3.1 Alkamides พบในรากและดอก พบมากในรากของ E. angustifolia และพบบ้างในน้ำคั้น E. purpurea
2.3.2 Cichoric acid พบมากใน E. purpurea มีฤทธิ์กระตุ้น phagocytosis ถูกสลายด้วยเอนไซม์ในพืช ปริมาณในแต่ละผลิตภัณฑ์แตกต่างกันได้มาก
2.3.3 Polysaccharides พบมากในน้ำคั้นส่วนเหนือดิน พบสารนี้ 2 ชนิดใน E. purpurea มีฤทธิ์กระตุ้น phagocytosis และเพิ่มการสร้างอนุมูลอิสระของออกซิเจนจาก macrophage
2.3.4 Glycoproteins พบมากในรากของ E. purpurea และ E. angustifolia มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของ B cells และ macrophage
โดยสารสกัดแอลกอฮอล์กับน้ำ (aqueous ethanol) ของราก Echinacea purpurea, ราก Echinacea pallida, ราก Baptisia tinctoria, ต้น Thuja occidentalis เมื่อให้หนูถีบจักรได้รับสารสกัดในน้ำดื่ม และหยอดไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เข้าจมูกหนู พบว่า สารสกัดดังกล่าวช่วย เพิ่มอัตราการรอดตาย (survival rate) เพิ่มระยะเวลาเฉลี่ยที่มีชีวิต (mean survival rate) ลดปริมาณไวรัสในปอด (viral titer) และ ลดการ consolidation ของปอด
การศึกษา Echinacea เปรียบเทียบกับ ฟ้าทะลายโจร
ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลในการเป็นยาเสริมเพื่อบรรเทาอาการหวัดในเด็ก 130 คน โดยให้กินยา 10 วัน โดยแบ่งเป็น
กลุ่ม A ใช้ยามาตรฐาน กับ ยา Kan Jang (53 คน) เป็นตำรับยาที่มี standardized extract SHA-10 ของฟ้าทะลายโจรอยู่ด้วย
กลุ่ม B ใช้ยามาตรฐาน กับ ยา Immunal (41 คน) เป็นตำรับยาที่มีสารสกัด E. purpurea
กลุ่ม C ยามาตรฐานอย่างเดียว (39 คน) พบว่า ยาเสริม Kan Jang มีประสิทธิผลดีกว่า Immunal โดยพบอาการของโรครุนแรงน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำมูก และอาการคัดจมูก ช่วยเร่งให้หายเร็วขึ้น ช่วยลดปริมาณการใช้ยามาตรฐานลง เมื่อเทียบกับ กลุ่ม B & กลุ่ม C
งานวิจัยสมุนไพรกับไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย
1. ฟ้าทะลายโจร
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata
วงศ์ : Acanthaceae
ส่วนที่ใช้ : ใบ หรือส่วนเหนือดิน
สารสำคัญ : สารกลุ่มไดเทอปีนแลคโตน เช่น แอนโดรกราโฟไลด์ นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ โดยฤทธิ์ที่พบจากการศึกษาในหลอดทดลองหรือสัตว์ทดลอง ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดไข้ และต้านอนุมูลอิสระ
ประสิทธิผลในการบรรเทาโรคระบบทางเดินหายใจ
• บรรเทาอาการไข้เจ็บคอ ขนาด 6 กรัม/วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง
• บรรเทาอาการหวัด
• ป้องกันหวัด (ยังไม่แน่ชัด)
ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล (2534) วิจัยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ โรงพยาบาล ชุมชนหลายแห่งให้ผู้ป่วยที่มีเป็นไข้เจ็บคอรับประทานฟ้าทะลายโจรแคปซูลในขนาด 3 ก./วัน หรือ 6 ก./วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอลขนาด 3 กรัม/วัน ในวันที่ 3 หลังรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับฟ้าทะลายโจรขนาด 6 กรัม/วัน หายจากไข้และอาการเจ็บคอไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอล แต่ทั้งสองกลุ่มหายจากไข้และอาการเจ็บคอมากกว่ากลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจรขนาด 3 กรัม/วันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาไม่มีความแตกต่างกันในวันที่ 7 ซึ่งผลงานวิจัยนี้จึงนำไปสู่การบรรจุยาจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับรักษาอาการไข้เจ็บคอโดยให้รับประทานในขนาด 6 กรัม/วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง
ประสิทธิผลในการบรรเทาอาการหวัด
• ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
• ฤทธิ์ต้านอักเสบ
• ฤทธิ์ลดไข้
Hancke และคณะ (2538) ทดลองให้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ (androgra-pholide) 4% ในขนาด 1200 มิลลิกรัมต่อวัน แก่ผู้ป่วยโรคหวัด (common cold) 28 คน แล้ววัดผลใน วันที่ 4 หลังได้รับยา พบว่าสารสกัดฟ้าทะลายโจรสามารถลดอาการเจ็บคอ เหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก 33 ราย โดยไม่รายงานว่าทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
Caceres และคณะ (2542) ได้ทดลองให้ยาเม็ดฟ้าทะลายโจรซึ่งมีสารสกัด 100 มก./เม็ด ที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์และดีออกซีแอนโดรกราโฟไลด์รวมกันไม่น้อยกว่า 5 มก./เม็ด ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 เวลา ในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด 102 คน เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 106 คน โดยให้ผู้ป่วยระบุความรุนแรงของแต่ละอาการเมื่อเริ่มให้ยา และหลังได้รับยา 2 วัน และ 4 วันตามลำดับ พบว่า วันที่ 2 หลังได้รับยา ความรุนแรงของอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ในกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และในวันที่ 4 หลังได้รับยา ความรุนแรงของทุกอาการได้แก่ อาการไอ (ทั้งความแรงและความถี่) เสมหะ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหู นอนไม่หลับเจ็บคอ ในกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ
องค์การอนามัยโลกจึงได้แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในการบรรเทาอาการหวัดในเอกสาร WHO monographs of selected medicinal plants Volume 2 ภายใต้ monograph “Herba Andrographidis”
ปัจจุบันมีการใช้ฟ้าทะลายโจรในซีกโลกตะวันตกมากขึ้น จากการศึกษาวิจัยของ Swedish Herbal Institute ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดฟ้าทะลายโจรของสถาบันนี้ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรรักษาโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และไซนัสอักเสบที่ขายดีที่สุดในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ความนิยมในการใช้สมุนไพรนี้เพื่อรักษาโรคหวัดได้แพร่หลายไปยังประเทศอื่นในซีกโลกตะวันตกแล้ว ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียโดยมีการแนะนำสมุนไพรนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นใน website ต่าง ๆ มากมายภายใต้ชื่อสมุนไพร ‘Andrographis’
ขณะนี้ สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกำลังอยู่ในระหว่าง การศึกษาวิจัยทางคลินิก โดยร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เพื่อประเมินประสิทธิผลในการบรรเทาอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ของฟ้าทะลายโจร
การทดลองใช้ฟ้าทะลายโจรในไก่
นักวิจัยไทยในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และคณะเกษตรศาสตร์และสัตวแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ศึกษาวิจัยการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในไก่เพื่อทดแทนยาปฏิชีวนะ หรือใช้เป็น performance enhancer หรือ growth promotor ในไก่มาหลายปีแล้ว พบว่าฟ้าทะลายโจรมีผลบวกต่อไก่ อย่างชัดเจน และมีศักยภาพในการนำมาใช้ทดแทนวัตถุสังเคราะห์ที่เติมในอาหารไก่ (feed additive) ได้ จากรายงานการวิจัย พบว่าฟ้าทะลายโจรสามารถ
• ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงรอดของแม่ไก่และเพิ่มความ เข้มของสีไข่แดงในไก่ไข่
• ช่วยให้ระดับภูมิคุ้มกันต่อ IBD virus ในไก่สูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(IBD = Infectious Bursal Disease เกิดจาก Birnavirus ไปกดภูมิคุ้มกันของไก่ ทำให้ไก่ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสได้ง่าย เบื่ออาหาร ผอม ถ่ายเหลว และตายได้)
2. แมงลักคา หรือ Phyto-1
ชื่อวิทยาศาสตร์: Hyptis suaveolens Poit.
ชื่อวงศ์: Lamiaceae (Labiatae)
งานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
• จากการศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยงพบว่าสารสกัดแมงลักคาเข้มข้น 5 มก./มล. สามารถลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ H3N2 ของเซลล์เพาะเลี้ยงได้ 93%
• การศึกษาพิษเรื้อรังในหนูขาว พบว่าขนาดที่ใช้เป็นยาไม่ทำให้เกิดพิษในหนูขาว
• จากการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 เพื่อศึกษาความปลอดภัยของสารสกัด Phyto-1 แคปซูลพบว่ามีความปลอดภัยไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง
ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อยู่
3. โป๊ยกั๊ก หรือ จันทน์แปดกลีบ (Chinese Star Anise)
โป๊ยกั๊กมีการปลูกอยู่ใน 4 มณฑลของประเทศจีนได้แก่ ฟูเจี้ยน กวางดง กวางสี และยูนนาน และในประเทศเวียดนาม โดยจะเก็บเกี่ยวในเดือนมีนาคม–พฤษภาคม ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตยา Tamiflu ได้ทำสัญญากับ supplier ที่จำหน่ายโป๊ยกั๊กเกือบทั้งหมดในประเทศจีนไว้แล้ว กล่าวกันว่า 90% ผลผลิตโป๊ยกั๊กของจีนในปัจจุบันใช้เพื่อการผลิตยา Tamiflu
การสังเคราะห์ Tamiflu จากสารตั้งต้นในโป๊ยกั๊ก
การผลิตยา Tamiflu หรือ oseltamivir ต้องสังเคราะห์จากสารตั้งต้นชื่อ shikimic acid ซึ่งเป็นสารที่พบมากในพืชสกุล Illicium ซึ่ง “โป๊ยกั๊ก” หรือ Illicium verum Hook. F. ที่มีชื่อสามัญว่า Chinese star anise, star anise เป็นพืชที่เป็นแหล่งสำคัญของสาร shikimic acid การผลิตยา Tamiflu ต้องเริ่มจากกระบวนการสกัดเมล็ดโป๊ยกั๊กที่เหมาะสมเพื่อให้ได้สาร shikimic acid ออกมาในปริมาณมาก ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน การหมัก (fermentation) การสกัด (extraction) การแยกสาร (isolation) และ การทำให้สาร shikimic acid ที่แยกออกมาได้ มีความบริสุทธิ์ (purification) ก่อนที่จะนำไปใช้ในขบวนการผลิตยา Tamiflu ต่อไป
การกินโป๊ยกั๊กช่วยป้องกันไข้หวัดนกได้หรือไม่ ?
จากการที่การผลิตยา Tamiflu ต้องอาศัยสาร shikimic acid จากโป๊ยกั๊กของจีนเท่านั้น ทำให้เกิดความยากลำบากในการเพิ่มปริมาณการผลิตTamiflu เพราะวัตถุดิบมีปริมาณจำกัดและไม่แน่นอน และมีราคาแพง และจากกระบวนการสกัดสารตั้งต้น จึงได้คำตอบว่า การกินโป๊ยกั๊กไม่ช่วยในการป้องกันไข้หวัดนก
ควรเร่งปลูกโป๊ยกั๊กเพื่อใช้ผลิตทามิฟลูหรือไม่ ?
มีการค้นคิดวิธีการใหม่ในการผลิตยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ เช่น ให้แบคทีเรียผลิต shikimic acid ให้ หรือ ผลิตยาชนิดใหม่ที่ไม่ต้องใช้ shikimic acid ในขบวนการสังเคราะห์ เนื่องจากในอนาคต เชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ H5N1 คงจะดื้อต่อยาทามิฟลูทำให้ใช้ไม่ได้ผล จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปลูกโป๊ยกั๊ก
สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก หรือโรคไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก ก่อให้เกิดผลกระทบในทางกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ และการสาธารณสุข มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไข้หวัดนก มีการทำลายไก่ เป็ด ในพื้นที่เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค มีการตื่นตัวในการศึกษาวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสและการใช้วัคซีน โดยมีมุมมองทั้งตัวยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย โดยเฉพาะสมุนไพรไทยที่จะมีศักยภาพออกฤทธิ์ช่วยยับยั้ง การเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย นับเป็นการเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้องจะมีแผนการลงทุนวิจัยด้านสมุนไพรที่พัฒนาเป็นยาแผนไทย เพื่อสามารถนำมาใช้กับผู้ติดเชื้อหรือสัตว์ปีกที่ติดโรคได้ในอนาคตต่อไป.
กินอาหารสุขภาพช่วยต้านไข้หวัด
วิตามินซีช่วยเสริมภูมิต้านทาน
ในช่วงฤดูหนาวนี้หากใครไม่ดูแลสุขภาพให้ดีเท่าที่ควร อาจเผชิญปัญหาสุขภาพได้ง่ายๆ โดยเฉพาะ “ไข้หวัด” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นโรคธรรมดาที่พบกันทั่วไป ประเทศไทยเราเป็นประเทศแถบร้อน ดังนั้น เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวร่างกายเรามักจะปรับตัวไม่ทัน เพราะเคยชินกับอากาศร้อนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดสามารถเกิดได้ตลอดปี ถ้าช่วงไหนร่างกายอ่อนแอ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ และอากาศเปลี่ยนบ่อย หันไปรอบตัวเราอาจเจอบางคนมีน้ำมูก บางคนไอ จาม ก่อให้เกิดความรำคาญและกังวลว่าวันหนึ่งเราอาจต้องเผชิญกับเชื้อไข้หวัดบ้างก็ได้ เรามีวิธีต้านหวัดด้วยอาหารมาแนะนำ เผื่อจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบัน แถมอาหารที่แนะนำยังมีสรรพคุณบรรเทาและรักษาอาการหวัดได้ด้วย
เรื่องการรักษาหวัดเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัส จะรักษาตามอาการ แนะนำให้พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ แต่ถ้าภูมิต้านทานดีหวัดจะทำอะไรไม่ได้ การรับประทานวิตามินซีสูงๆ ไม่สามารถป้องกันหวัดได้ เพียงแต่ช่วยลดความรุนแรงของอาการและระยะเวลาของการเป็นหวัดเท่านั้น ไม่ควรรับประวิตามินซีสูงเกินวันละ 1,000 มิลลิกรัม และแบ่งเป็น 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 500 มิลลิกรัม แต่การดื่มน้ำส้มคั้นมากๆจะได้ทั้งน้ำและวิตามินซีที่เพิ่มภูมิต้านทานและลดอาการหวัดได้ นอกจากนี้อาหารที่จะพูดถึงต่อไปนี้ยังช่วยบรรเทาอาการหวัดได้
1.ผลไม้รสเปรี้ยว ในการรักษาหวัดเพียงแค่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้น และพระเอกสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายคือ “วิตามินซี” ที่มีมากในผลไม้รสเปรี้ยวเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี่ กีวี มะขาม มะม่วง มะเขือเทศ โดยเฉพาะส้มทุกชนิดนั้นเป็นแหล่งของวิตามินซี ทราบไหมคะว่าส้มหนึ่งผลใหญ่อุดมไปด้วยวิตามินซีถึง 50 มิลลิกรัม ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมคนที่รับประทานส้มเป็นประจำมักจะไม่เป็นหวัด หรือหากบังเอิญเป็นหวัดก็จะหายได้ในเวลารวดเร็ว
2.ซุปไก่ ในซุปไก่มีกรดอะมิโนตามธรรมชาติชื่อซีสเทอีน มันจะละลายในน้ำเมื่อคุณต้มน้ำซุป ซีสเทอีนที่ว่านี้มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับยาตัวหนึ่งที่ชื่ออะเซทีลซีสเทอีนที่มีฤทธิ์เหมือนยาขับเสมหะ และเป็นยาที่แพทย์ในหลายประเทศนิยม จากการศึกษาวิจัยพบว่าซุปไก่มีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่านิวโทรฟิลด์ไปยังเนื้อเยื่อปอด ซึ่งจะช่วยลดขบวนการอักเสบในปอดและลดอาการไอได้
3.นมเปรี้ยว แต่ต้องเป็นนมเปรี้ยวที่มีเชื้อแลคโตบาซิลลัส จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้นได้ จากผลการวิจัยระบุว่าการรับประทานโยเกิร์ตวันละ 4 เวลาเป็นประจำทุกวันจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยยังพบอีกว่าการดื่มนมเปรี้ยวทุกวันจะช่วยลดอาการทุกข์ทรมานจากหวัดละอองฟาง ภูมิแพ้ และร้อยละ 25 เป็นหวัดน้อยลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ดื่มนมเปรี้ยวเลยหรือดื่มเป็นบางครั้งบางคราว
4.น้ำอุ่น การดื่มน้ำอุ่นช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ หายใจไม่สะดวกอันเนื่องมาจากโรคหวัดได้ เนื่องจากน้ำอุ่นช่วยขยายเนื้อเยื่อที่กำลังอักเสบหรือหดตัวอยู่ให้คลายโล่งขึ้นได้ ยิ่งดื่มน้ำอุ่นมากๆหรือจิบบ่อยๆจะยิ่งช่วยให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นขึ้น ลดความรุนแรงของอาการ และเสมหะยังถูกขับออกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ยังมีผักสมุนไพรพื้นบ้านตามฤดูหนาวนี้ อย่างสะเดาช่วยแก้ไข้อาการหวัด ทำให้เจริญอาหาร ขี้เหล็กมีสรรพคุณช่วยระบาย ดอกแคแก้ไข้หัวลม ส่วนการเลือกเครื่องดื่มในช่วงหน้าหนาวนี้ควรจะเป็นเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น น้ำขิง ชาสมุนไพร เพื่อช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการไอ แก้หวัด ซึ่งป้องกันการเป็นหวัดในช่วงนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารต้านหวัดเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้ห่างไกลจากไข้หวัดได้ เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรายังมีปัจจัยภายนอกอื่นที่ทำให้เราเป็นหวัด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ อย่าหักโหมกับการเรียนหรืองานมากจนเกินไป ควรหาเวลาพักผ่อนดูแลตัวเองและออกกำลังกายบ้าง จะให้เราสามารถหลีกหนีจากโรคภัยนานาชนิด
วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น